วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โอกาสที่ไทยต้องรีบคว้า การศึกษากับประชาคมอาเซี่ยน


   ข้าพเจ้าได้อ่านบทความ เรื่อง โอกาสที่ไทยต้องรีบคว้า การศึกษากับประชาคมอาเซี่ยน เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  ฉบับวันพุธที่ 19 มกราคม 2554 มีใจความโดยสรุปดังนี้  
รัฐบาลไทยได้ตอบรับกระแสอาเซี่ยนได้ดีมาก ก่อให้เกิดความตื่นตัวเรื่องการรวมเป็นประชาคมอาเซียนที่คาคว่าจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2558 หรือ ค.ศ.2015 ได้มีการเตรียมการต่างๆ มากมาย เพราะหากแผนการรวมประชาคมเกิดเสร็จสมบูรณ์  ประเทศใดขาดความพร้อมย่อมได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  ความพร้อมของประเทศไทยขณะนี้นับว่าคึกคักมาก โดยเฉพาะเมื่อกระทรวงศึกษาธิการเดินหน้าเต็มที่ วางแผนเชิงปฏิบัติการ จัดทำกรอบการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นฮับทางการศึกษาของอาเซียน  แผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี ด้านการศึกษาของอาเซียน 2011-2015 กระทรวงศึกษาธิการเน้นบูรณาการและให้เกิดความ สอดคล้องกับปฏิญญาด้านการศึกษาอาเซียน คือ ให้มีความหลากหลาย และครอบคลุม 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน คือ   
1. การเป็นประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน  
2. การเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
3. การเป็นประชาคมสังคม และ วัฒนธรรมอาเซียน
โดยมีจุดเน้นที่การสร้างอาเซียนให้เป็นประชาคมแห่งความเอื้ออาทร และร่วมแบ่งปัน มีวิสัยทัศน์เดียวกัน มีอัตลักษณ์เดียวกัน และเป็นประชาคมเดียวกัน (One Vision, One Identity, One Community)
หน้าที่หลักที่กระทรวงศึกษาธิการต้องทำคือ การเตรียมความพร้อมของเด็ก และเยาวชนเพื่อรองรับการก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน  ดังนั้น จึงมีการกำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาของประเทศไทย 4 นโยบาย ซึ่งมียุทธศาสตร์สำคัญ ดังนี้
1. การเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และเจตคติที่ดีเกี่ยวกับอาเซียน เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมพร้อมของครู และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชนเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี พ.ศ.2558
2. การพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนให้มีทักษะที่เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เช่น ความรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน เทคโนโลยีสารสนเทศ  ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงทักษะ ความชำนาญการที่สอดคล้องกับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงของสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ  ที่สำคัญคือประเทศไทยต้องมีการสร้างมาตรฐาน       ด้านการศึกษาที่เทียบเท่ากับนานาชาติในอาเซียน โดยการจัดทำกรอบมาตรฐานการศึกษาของไทย หรือที่เรียกว่า TQF (Thailand Qualification Framework) ในส่วนของอาชีวศึกษาก็มีการจัดทำ TVQ (Thailand Vocational Qualification) เพื่อจัดระดับคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพของไทย
3. การเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดเสรีการศึกษาในอาเซียนเพื่อรองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่มหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นของรัฐ หรือมหาวิทยาลัยเอกชนก็ต้องตื่นตัวและตอบรับความเปลี่ยนแปลงที่จะมากับโอกาสและมูลค่าทางการตลาดที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียนจำนวนมหาศาล ทั้ง 580 ล้านคน ในประชาคมอาเซียนนี้
4. การพัฒนาเยาวชนเพื่อเป็นทรัพยากรสำคัญในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน โดยเน้นการพัฒนาสมรรถนะ ทักษะการทำงานของเยาวชนไทยว่าควรจะพัฒนาตรงจุดไหน

จากบทความนี้ ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับผู้เขียนบทความนี้ที่รัฐบาลไทย โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการมีความตื่นตัวเกี่ยวกับการเตรียมการเพื่อรองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน  โดยเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการศึกษาด้านอาเซียน เพื่อรองรับความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน หรืออาจเรียกว่าพลเมืองอาเซียน (ASEAN Population)  ดังจะเห็นได้จากนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้เร่งมือทำนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาไทยสู่การเป็นฮับอาเซียนให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างเต็มที่ โดยมีการเตรียมประชุมกับสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนด้านอาเซียนศึกษาเพื่อรองรับ และเตรียมความพร้อมทุกด้าน  และล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ได้สั่งการให้สถานศึกษาต่างๆ เตรียมความพร้อมด้านภาษาอังกฤษ ด้วยการจัดหาอาจารย์ชาวต่างชาติเข้ามาสอน เพื่อให้เด็กไทยมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น หวังว่าปฏิบัติการศึกษาอาเซียนจะเป็นอีกหนึ่งปฏิบัติการของประชาวิวัฒน์ด้านการศึกษาชาติอย่างจริงจัง  หากมองในแง่ยุทธศาสตร์ โอกาสที่ประเทศไทยจะผลักดัน  ให้สถาบันการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งรัฐ และเอกชนที่มีความพร้อมสูง เข้าไปมีส่วนในการขับเคลื่อนสร้างคุณภาพประชาชนที่กำลังกลายเป็นประชาชนชาวอาเซียนทั้ง 580 ล้านใน 10 ประเทศ โอกาสนี้นับว่าเป็นโอกาสทองทางการศึกษาที่ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยไทยต้องรีบคว้า และเร่งดำเนินการให้เห็นผลโดยเร็ว  
ข้าพเจ้าคิดว่าการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน จึงกลายเป็นวาระเร่งด่วนสำหรับการศึกษาไทยปัจจุบัน เพราะเป็นตัวช่วยที่สำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถยืนอยู่บนเวทีอาเวี่ยนได้อย่างสง่างาม เทียบเท่ากับประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้  ข้าพเจ้าคิดว่าระดับการศึกษาที่จะเป็นตัวขับเคลื่อน และเร่งปรับแผนดำเนินการคือการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพราะการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างกันน่าจะเกิดขึ้นที่ระดับนี้มากกว่าระดับอื่นๆ  ดังจะพบว่า ล่าสุด สกอ.มีนโยบายแลกเปลี่ยนนิสิต-นักศึกษาในกรอบของอาเซียน ตามโครงการที่ทำอยู่ตอนนี้ คือ MIT (Malaysia Indonesia and Thailand) โดยปิดโอกาสให้ทางมหาวิทยาลัยทั้ง 3 ประเทศส่งนักศึกษาเข้าเรียนระหว่างประเทศกลุ่ม MIT เป็นเวลา 1 ภาคเรียน โดยทาง สกอ.จะออกค่าใช้จ่ายให้นักศึกษาทั้งหมด เราคาดหวังว่าการทำโครงการนี้ จะช่วยให้นักศึกษาไทย ได้เรียนรู้ในเรื่องของอุดมศึกษา ทั้งของมาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมทั้งมีความคุ้นเคยกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรตามมาด้วย  ซึ่งในปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะได้ทำหลักสูตรอาเซียน เป็นหลักสูตรระหว่างประเทศ โดยจะเขียนตำราเรียนร่วมกัน 10 ประเทศ กระทรวงศึกษาธิการได้ดึงเอาเงินอาเซียนมาให้การสนับสนุน โดยผ่านผู้แทนถาวรของอาเซียน ความตื่นตัวด้านการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน กำลังเป็นเรื่องใกล้ตัว และจะกลายเป็นเงาที่ติดตามพลเมืองอาเซียนไปทุกๆ ที่
แม้หลายฝ่ายจะเห็นด้วยกับการที่มหาวิทยาลัยไทยมีการปรับตัวกันมากในเรื่องอาเซียนนี้ แต่การปรับตัวไม่ใช่ทำตามกระแสจนมากเกินไป จนลืมรูปแบบวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ประจำของประเทศไทย ส่งผลให้ถูกลดทอนเรื่องวิถีชีวิตไทย และวัฒนธรรมไทยถูกกลืนเกือบหมด  หากเป็นเช่นนั้นก็คงไม่ถูกต้อง
ข้าพเจ้าคิดว่ารูปแบบที่ประเทศไทยควรใช้คือรูปแบบที่ต้องคงความเป็นไทยไว้ ขณะเดียวกันก็พัฒนาจุดเด่นให้ดีขึ้น และผสมผสานความเป็นสากล จนสามารถดึงดูดให้ผู้เรียนมาเรียนในประเทศไทย ซึ่งอาจจะไม่ใช่เฉพาะผุ้เรียนอาเซียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผุ้เรียนจากภูมิภาคอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียนจากยุโรป หรือจากอเมริกา    qqqq


กรอบสมรรถนะของครูแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในศตวรรษที่ 21


   ข้าพเจ้าได้อ่านบทความ เรื่อง กรอบสมรรถนะของครูแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในศตวรรษที่ 21 ทางสื่อออนไลน์ มีใจความโดยสรุปดังนี้  
            ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO INNOTECH) ครั้งที่ 52 ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 29 กันยายน ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2552 โดยมีการเห็นชอบกรอบสมรรถนะของครูแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ Dr.Erlinda C. Pefianco ผู้อำนวยการศูนย์ซีมีโอ อินโนเทค ได้แจ้งผลศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมาตรฐานสมรรถนะของครูในบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งกำหนดเกณฑ์การวัด และพัฒนาสมรรถนะดังกล่าวแก่ครูผู้สอน ผลการ วิจัยพบว่าสมรรถนะหลัก (Competency) ของครูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วย 11 ด้าน และภาระงาน / ความสามารถเฉพาะ ดังนี้
1. การเตรียมแผนการสอนที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของโรงเรียน  ประกอบด้วยภาระงาน และความสามารถเฉพาะ ดังนี้
1.1 ประเมินความต้องการในการเรียนรู้ที่มีอยู่จริง
1.2 จัดระบบของวัตถุประสงค์การเรียนรู้ให้ครอบคลุมถึงความรู้ ทักษะ
       ความถนัดและค่านิยม         
1.3 จัดเตรียมแผนการสอนที่สอดคล้องกับหลักสูตร และระยะเวลา
1.4 จัดเตรียมแผนการสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียน
1.5 เลือกวิธี สอนที่เหมาะสม กับรายวิชาและระดับผู้เรียน
1.6 เลือกอุปกรณ์ ประกอบการเรียนการสอน อย่างเหมาะสม
1.7 กำหนดมาตรการการประเมินผลที่เหมาะสม
1.8. นําผลการประเมินผู้เรียน และข้อคิดเห็นของผู้สอนมาพัฒนา
      แผนการสอน
2. การสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้  ประกอบด้วยภาระงาน และความสามารถเฉพาะ
ดังนี้
2.1 สนับสนุนการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัย สะอาด เป็นระเบียบ
2.2 ส่งเสริมสภาพ แวดล้อมที่เอื้ออาทร และเรียนรู้อย่างเป็นมิตร
2.3 จงใจให้เกิดการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น
2.4 ส่งเสริมการรักษามาตรฐาน ระดับสูงของสมรรถนะการเรียนรู้
2.5 เคารพในความหลากหลายของผู้เรียน
2.6 คงสภาพ แวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ แบบร่วมมือกัน
3. การพัฒนาและการใช้ทรัพยากรสำหรับการเรียนการสอน  ประกอบด้วยภาระงาน และ
ความสามารถเฉพาะ ดังนี้
3.1 แสวงหาความรู้และทักษะการใช้ทรัพยากรเพื่อการเรียนการสอน
3.2 พัฒนาสื่อ การเรียนการสอน ที่เหมาะสมกับบทเรียน
3.3 ใชสื่อระหว่างจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ
3.4 บูรณาการ ICT กับการเรียนการสอน
3.5 ติดตาม และประเมินผลการใชสื่อการเรียนการสอน
4. การพัฒนาทักษะการจัดลำดับความคิดในระดับสูง  ประกอบด้วยภาระงาน และ
ความสามารถเฉพาะ ดังนี้
4.1 เตรียมสร้างทักษะและยุทธศาสตร์ HOTS (Higher order thinking skills)
4.2 พัฒนาทักษะ HOTS แก่ผู้เรียน
4.2.1 พัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
4.2.2 พัฒนาทักษะ การคิดแบบพินิจพิเคราะห์
4.2.3 พัฒนาทักษะการคิดเหตุผลตรรกะ
4.2.4 พัฒนาทักษะแกปัญหา และตัดสินใจ
4.3 เสริมสร้าง HOTS ในผู้เรียน
4.4 ประเมิน HOTS ของผู้เรียน
5. การอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้  ประกอบด้วยภาระงาน และความสามารถ
เฉพาะ ดังนี้
5.1 สร้างความรอบรู้ในสาระวิชา
5.2 กำหนดยุทธศาสตร์การสอนที่สอดคล้องกับรูปแบบ และเอื้อต่อการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้นของผู้เรียน
5.3 สื่อสารอย่างสอดคล้องกับระดับของผู้เรียน
5.4 ส่งเสริมให้ผู้เรียนร่วมมือ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้
5.5 ใช้การตั้งคำถาม และทักษะการปฏิสัมพันธ์
5.6 บูรณาการ HOTS กับบทเรียน 
5.7 สร้างวิธ๊สอนในบริบทของท้องถิ่น
5.8 บริหารจัดการกิจกรรมในชั้นเรียน
6. การส่งเสริมค่านิยมด้านศีลธรรมและจริยธรรม  ประกอบด้วยภาระงาน และความสามารถเฉพาะ ดังนี้
6.1 กำหนดหลักเกณฑ์ จริยธรรมวิชาชีพของครูในแต่ละประเทศ
6.2 ยกระดับและสร้างหลักเกณฑด้านจริยธรรมวิชาชีพครู
6.3 ให้ความรู้แก่ผู้เรียน และครูผูช่วยสอนในเรื่องค่านิยมจริยธรรม
      และศีลธรรม
7. ส่งเสริมการพัฒนาชีวิต และทักษะวิชาชีพแก่ผู้เรียน ประกอบด้วยภาระงาน และความสามารถเฉพาะ ดังนี้
7.1 ให้ความรู้ สร้างทักษะ และความถนัด รวมถึง ค่านิยมของศตวรรษท 21
7.2 ส่งเสริมพัฒนาการของนักเรียนในด้านการเรียนเพื่อให้รูจัก ความรู้  ทักษะ
       ความถนัด และค่านิยม
7.3 ส่งเสริมพัฒนาการของนักเรียนในด้านการเรียนเพื่อใช้ความรู้ ทักษะ
      ความถนัด และค่านิยม
7.4 ส่งเสริมพัฒนาการของนักเรียนเพื่อเป็นผู้มีความรู้ ทักษะ ความถนัด
       และค่านิยม
7.5 ส่งเสริมพัฒนาการ ของนักเรียนให้อยู่อย่างมีความรู้ ทักษะ ความถนัด
       และค่านิยม (ความฉลาดทางอารมณ์)
7.6 ประเมินนักเรียน ในด้านความรู้ ทักษะ  ค่านิยม และความถนัด
       ทางการศ๊กษา  4  ด้าน
8. การวัดและประเมินพฤติกรรมของผู้เรียน  ประกอบด้วยภาระงาน และความสามารถเฉพาะ ดังนี้
8.1 ค้นคว้า ความรู้/ทักษะ เกี่ยวกับการทดสอบ และประเมินผล
8.2 พัฒนาความรู้ และรวบรวมเครี่องมือสำหรับการประเมิน
8.3 ประเมินการเรียนรู้ของนักเรียนโดยใช้เครื่องมือวัดที่เหมาะสม
8.4 นำผลที่ได้จากการประเมินไปใช้
9. การพัฒนาด้านวิชาชีพ  ประกอบด้วยภาระงาน และความสามารถเฉพาะ ดังนี้
9.1 วิเคราะห์เพื่อให้ทราบความต้องการในการพัฒนา
9.2 จัดเตรียมแผนการพัฒนาด้านวิชาชีพของแต่ละคน
9.3 จัดกิจกรรมการพัฒนาด้านวิชาชีพ
9.4 พิจารณาถึงความสอดคล้องของกิจกรรมการพัฒนาที่จัดขึ้น
       กับความต้องการ
9.5 มีการนำไปใช้ แบ่งปัน และเผยแพร่องค์ความรู้ และทักษะที่ได้รับจาก
       กิจกรรมพัฒนาวิชาชีพ และการศึกษาดูงาน ฯลฯ
9.6 ทำหน้าที่พี่เลี้ยง แก่นักเรียน/ครู ใหม่
9.7 ประเมินผลกระทบ ของกิจกรรมการพัฒนาด้านวิชาชีพที่จัดขึ้น
10. การสร้างเครือข่ายกับผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ปกครองนักเรียน ประกอบด้วยภาระงาน และความสามารถเฉพาะ ดังนี้
10.1 ส่งเสริมทักษะ ด้านการประชาสัมพันธ์
10.2 พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนกับผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้อง
10.3 แบ่งปันความรับผิดชอบแก่ชุมชนในการจัดการศึกษาแก่นักเรียน
10.4 เข้าร่วมกิจกรรมด้านสังคม กับชุมชน
11. การจัดสวัสดิการ และภารกิจแก่นักเรียน  ประกอบด้วยภาระงาน และความสามารถเฉพาะ ดังนี้
11.1 แนะนำ และให้คำปรึกษาแก่นักเรียน
11.2 พัฒนาการให้คำปรึกษา และทักษะอื่นในแบบบูรณาการ
11.3 จัดและสนับสนุนกิจกรรมด้านสังคม และหลักสูตรเสริม
11.4 ช่วยเหลือ ผู้เรียนในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
11.5 ดำเนินการบริหารจัดการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

จากบทความนี้ จะพบว่าหน่วยงานด้านการศึกษาระดับชาติ หรือระดับภูมิภาคต่างให้ความสำคัญกับการกำหนดสมรรถนะของครูในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้มีความเท่าเทียมกัน และเป็นมาตรฐานที่ใกล้เคียงกันเพื่อการศึกษาของผู้เรียนในภูมิภาคนี้จะได้มีคุณภาพที่ไม่แตกต่างกันมากนัก จากสมรรถนะที่คณะกรรมการบริหารศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO INNOTECH) ได้ศึกษาไว้จะเห็นว่าสอดคล้องกับสมรรถนะครูไทยที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดไว้ จำนวน 5 สมรรถนะหลัก และสมรรถนะประจำสายงาน จำนวน 6 สมรรถนะ ได้แก่
1. สมรรถนะหลัก (Core Competency) ประกอบด้วย 5 สมรรถนะ คือ
1.1  การมุ่งผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงาน
1.2  การบริการที่ดี
1.3  การพัฒนาตนเอง
1.4  การทำงานเป็นทีม
1.5  จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู
2. สมรรถนะประจำสายงาน (Functional Competency)  ประกอบด้วย 6  สมรรถนะ คือ
2.1  การบริหารหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้
2.2  การพัฒนาผู้เรียน
2.3  การบริหารจัดการชั้นเรียน 
                       2.4  การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และการวิจัยเพื่อพัฒนาผู้เรียน
                        2.5  ภาวะผู้นำครู
                        2.6  การสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับชุมชนเพื่อการจัดการเรียนรู้
นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังได้กำหนดตัวชี้วัดของแต่ละสมรรถนะไว้อย่างชัดเจน  นั่นก็เป็นการประกันคุณภาพของครูไทยได้ในระดับหนึ่งว่ามีแนวทางการประเมินที่สอดคล้องกับสากล และมีคุณภาพมาตรฐานทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน แต่ทั้งนี้ในการปฏิบัติจริงคณะกรรมการที่ประเมินคุณภาพครูมีความจริงจังในการประเมินมากน้อยเพียงใด  หากครูไทยมีสมรรถนะตรงตามที่ คณะกรรมการบริหารศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO INNOTECH) ได้ศึกษาไว้นั่นก็แสดงว่าประเทศไทยพร้อมที่จะเข้าร่วมจัดการศึกษาตามกรอบความร่วมมือของภูมิภาคอาเซียน  qqqq

แนวทางการศึกษายูเนสโก ปัจจัยความสำเร็จในศตวรรษที่ 21


   ข้าพเจ้าได้อ่านบทความ เรื่อง แนวทางการศึกษายูเนสโก ปัจจัยความสำเร็จในศตวรรษที่ 21 ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553 โดยมีใจความสรุป ดังนี้  
จากงานประชุมนานาชาติด้านการเรียนการสอน และงานแสดงนิทรรศการด้านสื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา หรือ EDUCA 2010 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวคิดผลงานวิจัย และนวัตกรรมด้านการศึกษาจากทุกภาคส่วนในระบบการศึกษา เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้จัดงานได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากองค์การยูเนสโก ประเทศไทย ได้แก่ "ดร.กวาง โจว คิม" ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก ประเทศไทย มาให้ความรู้และเปิดความคิดเรื่องปัจจัยแห่งความสำเร็จของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ตามแนวทางการศึกษาวิจัยของยูเนสโก
ดร.กวาง โจว คิม เริ่มต้นปาฐกถาพิเศษด้วยการกล่าวถึงแนวโน้มด้านการศึกษาที่เกิดขึ้นกับโลกยุคปัจจุบัน โดยระบุว่า การศึกษาในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ซึ่งหลายประเทศประสบกับปัญหาประชากรสูงวัย ขณะที่ในประเทศไทย ประชากรวัยเจริญพันธุ์ และอัตราการเกิดเองก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970
ขณะที่ในกลุ่มประเทศ OECD กลับพบความเคลื่อนไหวของประชากรว่า มีเด็กเกิดนอกประเทศมากกว่าในประเทศ โดยในยุโรป ชนชั้นแรงงานจำนวนมากมีการอพยพย้ายถิ่นฐานไปขายแรงงานและปัจจัยเรื่องการเคลื่อนไหวของประชากรนี้ นับว่ามีความสำคัญสำหรับ การคิดวางแผน และการจัดระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการศึกษาประการที่ 2 คือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ซึ่งโดยภาพรวมของทั่วโลกพบว่าภาคเกษตรและอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ภาคบริการมีสูงขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยกลับพบว่าภาคการเกษตรและบริการลดลง แต่มีภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น  แนวโน้มนี้ได้ส่งผลให้การจ้างงานเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งแสดงผลออกมาใน รูปแบบต่าง ๆ เช่น วิชาชีพเฉพาะมีความต้องการและเติบโตขึ้นในช่วงปี 2549-2550 ซึ่งเป็นตัวสะท้อนการเตรียมบุคลากรไปสนองความต้องการของเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยที่ 3 คือไอซีที และอินเทอร์เน็ต ซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลก เช่นเดียวกับในไทย
สุดท้าย คือปัจจัยที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของภัยพิบัติ เช่น โลกร้อน ซึ่งอาจมีผลให้ภาคการเกษตรในพื้นที่ที่เพาะปลูกได้ยาก ขยายตัวขึ้นในอีก 70 ปีข้างหน้า
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการศึกษาแล้ว ดร.กวาง โจว คิม ยังชี้ให้เห็นถึงความจริงในระบบการศึกษา โดยกล่าวถึงประเด็นเรื่องช่องว่างทางการศึกษาว่า แม้ปัจจุบัน จำนวนเด็กที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนจะมีแนวโน้มลดลง แต่ข้อมูลที่พบในปี 2550 ยังชี้ให้เห็นว่า จำนวนเด็กที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนยังคงมีมากถึง 72 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขในระดับโลก
"ส่วนประเทศไทย ช่องว่างทางการศึกษา แม้จะไม่เลวร้ายนัก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการศึกษาสูงกว่า ก็ยังนับว่ามีช่องว่างอยู่มาก"
ทั้งนี้ ข้อมูลการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไทยที่เปิดเผยออกมาล่าสุด ปรากฏว่ามีนักเรียนในระดับชั้นเตรียมอนุบาล 88% ประถม 98.3% มัธยมต้น 86.7% มัธยมปลาย 58% และอุดมศึกษา 48% แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่าอยู่ในมาตรฐาน OECD คือเด็กไทยจะเข้าโรงเรียนได้ตั้งแต่ 5 ขวบ และได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 16 ปี
นั่นคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับการศึกษาในระดับโลก และการศึกษาในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ที่ตัวแทนจากยูเนสโกนำเสนอ
ส่วนจุดอ่อนที่มีการพูดถึงอยู่ในเวลานี้ คือเรื่องคุณภาพการศึกษา และคุณภาพครูในประเทศไทย ก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ องค์การยูเนสโก ประเทศไทย ให้ความสนใจ และจากประสบการณ์ของ ดร.กวาง โจว คิม ได้ชี้ให้เห็นว่า ครูไทยต้องมีการปรับใช้ความรู้ เช่น ให้ลองปรับตารางการสอนเป็นแบบ "DeSeCo" ซึ่งแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 กลุ่ม คือตารางการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มที่แตกต่างกัน ตารางความเปลี่ยนแปลงด้านวิธีการศึกษา และตารางการประเมินผลการศึกษา
อีกเรื่องที่เป็นจุดที่ต้องคำนึง คือการเปลี่ยนแปลงสถานภาพครู โดยเฉพาะในโลกยุคนี้ และในบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ครูมีการปรับสถานภาพในห้องเรียน จาก "ครูผู้สอน" และเป็นศูนย์กลางของ ชั้นเรียนไปสู่การเป็น "ครูผู้สร้าง" และเปลี่ยนบทบาทให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางแทน ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนกว่า
นอกจากนี้ ความท้าทายต่ออาชีพครูในสังคมไทย ก็ยังเป็นอีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึง เพราะครูในปัจจุบันต้องทำงานหนัก ผลตอบแทนน้อยกว่าความรับผิดชอบ และการสร้างให้เกิดครูมีคุณภาพ ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในฐานะหน่วยงานระหว่างประเทศ องค์การยูเนสโกก็ยังเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่จะร่วมพัฒนาการศึกษาในโลกได้ โดยปัจจุบัน ยูเนสโกทำหน้าที่พัฒนาการศึกษาที่สร้างสรรค์และมีคุณภาพ เช่น การจัดทำโครงการ Education for All เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา และ Beyond Basic Education ที่มีเป้าหมาย เพื่อต่อยอดการศึกษาให้สูงกว่าทั่วไป พร้อมกันนั้นยังดูแลสถานะการทำงานของครู และอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรงด้วย เช่น เรื่องโรคเอดส์ ไอซีที เป็นต้น
            จากปาฐกถาพิเศษของดร.กวาง โจว คิม ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับแนวคิดที่กล่าวว่าการการศึกษาในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ  การขยายตัวอย่างรวดเร็วด้านไอซีที และอินเทอร์เน็ต และปัจจัยที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของภัยพิบัติทางธรรมชาติ  เพราะปัจจัยที่กล่าวมาแต่ละด้านล้วนเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จในการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ และเทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนปฏิรูปสังคมไปสู่ความเป็นสังคมใหม่ การศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองให้ทันกับการเปลี่ยน แปลงในแต่ละด้าน เพื่อความสุขในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมแห่งการเรียนรู้ (Knowledge based society) เมื่อพิจารณาแนวการจัดการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันก็พบว่าแนวการจัดการศึกษาได้กำหนดไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักนักเรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ และถือว่านักเรียนมีความสำคัญที่สุดแต่เนื่องจากนักเรียนแต่ละคนมีธรรมชาติที่แตกต่าง ทั้งในด้านวัย วุฒิภาวะ ความต้องการ ความถนัด ความสนใจ และวิธีการเรียนรู้ทั้งมีการดำเนินชีวิต และสิ่งแวดล้อม ที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวล้วนมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของ นักเรียนทั้งสิ้น ดังนั้นการจัดกระบวน การเรียนรู้จึงต้องยึดนักเรียนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นแนวทางที่ให้นักเรียนได้ใช้กระบวนการเรียนรู้สร้างองค์ความรู้ โดยนักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนการจัดกิจกรรม มีความสุขในการเรียน เกิดเป็นการเรียนรู้ อย่างมีความหมาย และจะนำไปสู่การค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิตในที่สุด
            นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังคิดว่าการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายในเรื่องการเปลี่ยนแปลงต่างๆอันเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัฒน์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดความต้องการกำลังคนที่มีศักยภาพสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ การศึกษาในศตวรรษที่ 21 จึงต้องเน้นในเรื่อง
การจัดการคิดระดับสูงที่มิใช่เพียงการเรียนรู้ทักษะการคิดเท่านั้น แต่ต้องสามารถใช้พลังปัญญาจัดการความรู้ สร้างสรรค์ แก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งเห็นได้จากมาตรฐานการเรียนรู้ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ล้วนกำหนด และมุ่งเน้นทักษะการคิด การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการคิดอันเป็นเป้าหมายสำคัญของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน  และในการจัดการ ศึกษาควรต้องพิจารณาเกี่ยวกับเนื้อหาวิชาที่จะถ่ายทอดให้กับผู้เรียน บุคคลที่เกี่ยวข้องในการวางแผนจัด ทำหลักสูตรทุกระดับควรต้องศึกษาให้รอบคอบในประเด็นนี้  และมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตการเรียรู้ และการทำงานในยุคเทคโนโลยี ดังนี้
                        1. รู้ทักษะการใช้ภาษายุคดิจิทัล (Digital-Age Literacy)
                        2. มีทักษะในการคิดประดิษฐ์-สร้าง (Inventive Thinking)
                        3. มีทักษะในการเพิ่มผลผลิตในงานที่ทำอย่างมีประสิทธิภาพสูง (High Productivity)
                        4. มีทักษะสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Communication)

หลักการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21


ข้าพเจ้าได้อ่านบทความ เรื่อง หลักการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทางสื่อออนไลน์ โดยผู้เขียนได้เสนอความคิดไว้ดังนี้  
            นักการศึกษายุคใหม่ได้เสนอหลักการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไว้ ดังนี้
                        1. ผู้สอนต้องใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย เพราะผุ้เรียนมีรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน 
หากผู้สอนนำรูปแบบการเรียนรู้แบบใดแบบหนึ่งไปใช้กับผู้เรียนทุกคนตลอดเวลา อาจทำให้ผู้เรียนบางคนเกิดอาการตายด้านทางสติปัญญา
                        2. ผู้เรียนควรเป็นผู้กำหนดองค์ความรู้ของตนเอง ผู้สอนไม่ใช่นำความรู้ไปใส่สมองผู้เรียน แล้วให้ผู้เรียนดำเนินรอยตามผู้สอน
3. โลกยุคใหม่ต้องการผู้เรียนที่มีวินัย  มีพฤติกรรมที่รู้จักยืดหยุ่น  หรือปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นแบบเผด็จการ แบบอิสระ  หรือแบบประชาธิปไตย
                        4. โรงเรียนต้องใช้วิธีสอนที่หลากหลาย โดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ กัน เพราะข้อมูลข่าวสารในโลกจะทวีเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทุกๆ 10 ปี 
                        5. ให้ใช้กฎเหล็กของการศึกษาที่ว่า ระบบที่เข้มงวดจะผลิตคนที่เข้มงวดและ ระบบที่ยืดหยุ่นก็จะผลิตคนที่รู้จักการยืดหยุ่น
                        6. การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ในหลายๆ สถานที่  เพราะสังคม หรือชุมชนรอบตัวผู้เรียนมีข้อมูลข่าวสารมากมายที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ 
                        7. การเรียนรู้แบบเจาะลึก (deep learning) มีความจำเป็นมากกว่าการเรียนรู้แบบผิวเผิน (shallow learning) หมายความว่า จะเรียนอะไรต้องเรียนให้รู้จริง ให้รู้ลึก รู้รอบ ไม่ใช่เรียนแบบ งูๆ ปลาๆ ดังจะเห็นจากในอดีตว่ามีการบรรจุเนื้อหาไว้ในหลักสูตรมากเกินไป  จนผู้เรียนไม่รู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร
และสิ่งที่เรียนไปแล้วมีความสัมพันธ์กันอย่างไร
                        8. การสอนที่จัดว่ามีประสิทธิภาพ  ต้องการครูที่มีคุณสมบัติมากกว่าการเป็นผู้ทำหน้าที่สอน (instructor) คือต้องการครูที่มีคุณลักษณะเป็นผู้ชี้แนะการเรียนรู้ (learning coach) และ เป็นตัวแทนในการนำผู้เรียนท่องเที่ยวไปสู่โลกแห่งการเรียนรู้ได้  (learning travel agent) บทบาทของครูในโลกยุคใหม่จึงต้องกว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ดูแลโปรแกรมการเรียนการสอนเท่านั้น เพราะทำให้ผู้เรียนที่จบจากโรงเรียนมีปัญหานเรื่องความรู้ และทักษะ คือรู้ก็รู้ไม่จริง แล้วยังขาดทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพอีกด้วย
                        9. การเรียนในโรงเรียน (schooling) กับการศึกษา (education) ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน        วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) เคยกล่าวไว้กับรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (Mr. R.A. Butler) เมื่อปี ค.ศ.1944 ว่า  โรงเรียนไม่มีความจำเป็นมากนักในการจัดการศึกษา เพราะเป็นเพียงสถาบันที่มีงานหลักคือการพร่ำอบรมสั่งสอนเด็กๆ เท่านั้น แต่การศึกษามีความแตกต่างออกไปอย่าง   
สิ้นเชิง และการศึกษาเกิดขึ้นในโรงเรียนน้อยมาก
                        10. โลกอนาคตจะให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่บ้าน (home–based education) มากขึ้น เด็กๆ จะเรียนอยู่ที่บ้าน โดยเรียนจากประสบการณ์ของนักการศึกษาที่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ โดยตรง
นอกจากหลักการเรียนรู้ 10 ประการ ข้างต้นแล้ว นักการศึกษายังได้เสนอแนวคิดหลักในการจัด ระบบการเรียนรู้ (learning system) อีก 7 ประการ สำหรับยุคศตวรรษที่ 21 คือ
1. ผู้เรียนเป็นผู้จัดการเรื่องการเรียนรู้ของตนเอง
2. การเรียนรู้จะใช้ระบบเครือข่าย
3. หลักสูตรจะถูกจัดแยกเป็นประเภท (catalogue curriculum) ผู้เรียนมีโอกาสเลือกเรียนหลักสูตรที่หลากหลายมากขึ้น เช่น สามารถเลือกได้ว่าจะเรียนเต็มเวลาในสถานศึกษาทั้งหลักสูตร (full time) หรือจะเรียนที่บ้านทั้งหมด หรือจะเลือกเรียนที่บ้านและเรียนที่โรงเรียนบางเวลาก็ได้ (flexi–time schooling plan)
4. มีแผนการเรียนรู้เป็นรายบุคคล (personal learning plan)
5. การเรียนรู้จากคอมพิวเตอร์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
6. ครูมีบทบาทในฐานะเป็นตัวแทนของการเรียนรู้ (learning agent)
7. ระบบการประเมินจะหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้วัดเฉพาะความรู้ในแบบทดสอบเท่านั้น

จากประเด็นความคิดที่ได้จากบทความนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นแนวคิดที่เป็นประโยชน์ และสามารถใช้เป็นแนวในการจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนได้ จากแนวคิดของนักการศึกษาเกี่ยวกับหลักการเรียนรู้ หลักการจัดระบบการเรียนรู้ และหลักในการจัดการศึกษาในยุคศตวรรษที่ 21 ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น  รวมทั้งจากผลการวิจัยจำนวนมาก ในระยะไม่กี่สิบปีมานี้ เราจะพบว่าประเทศต่างๆตื่นตัว และตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องปฏิรูประบบการเรียนรู้ในสถานศึกษาทุกระดับ เพื่อให้พลเมืองในประเทศของตนสามารถแข่งขันในเวทีโลก และก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลง และความก้าวหน้าของโลก อย่างไรก็ตาม  ความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย  หากไม่ได้รับความร่วมมือจากครูผู้ปฏิบัติจริง และผู้บริหารสถานศึกษา   โดยผู้บริหารต้องให้การสนับสนุนในทุกๆด้านที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดการเรียนการสอน
ส่วนครูผู้สอน ก็ต้องเปลี่ยนแปลงบทบาท และต้องเรียนรู้วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ ๆ ด้วย  หากครูผู้สอนยังคงใช้วิธีการเดิม ๆ หรือมีความเชื่อแบบเดิม ๆ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ก็จะทำให้ผู้เรียนไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อออกจากสถานศึกษาไปแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากยังมีสิ่งที่ท้าทายผู้เรียนเป็นจำนวนมากในโลกภายนอก   และยังมีปัญหาอีกมากมายที่ผู้เรียนต้องออกไปค้นหา บูรณาการ  สังเคราะห์ข้อมูลต่างๆ และมองหาวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างไปจากเดิม นอกจากนี้ยังต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง  และต้องรู้จักร่วมมือกันกับคนอื่นๆในการทำงาน  ซึ่งการที่จะผลิตคนให้มีคุณลักษณะข้างต้น
ได้อย่างครบถ้วน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  แต่การพัฒนาผู้เรียนให้ไปถึงจุดหมายดังกล่าวก็ต้องดำเนินต่อไปเพื่อให้ผู้เรียนมีคุณสมบัติเหมาะสมกับยุคสมัย และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างประสบสุข ตามควรแก่อัตภาพ  qqqq

enGauge 21st Century Skills for 21st Century Learners


   ข้าพเจ้าได้อ่านบทความ เรื่อง enGauge 21st Century Skills for 21st Century Learners ทางสื่อออนไลน์ โดยผู้เขียนได้เสนอความคิดไว้ดังนี้  
    จากประเด็นความคิดที่ได้จากบทความนี้ จะพบว่าในศตวรรษที่ 21 ผู้เรียนต้องมีทักษะที่จำเป็นต้องศึกษามากมาย และต้องสามารถใช้ทักษะต่างๆเหล่านั้นได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อให้การดำรงชีวิตของตนเองเป้นไอย่างราบรื่น ไร้อุปสรรค ดังนั้นในการจัดการศึกษา รัฐควรตระหนักในความจำเป็นเร่งด่วนของการเรียนรู้ทักษะที่สำคัญเหล่านี้ของผู้เรียน เพื่อเป็นการเตรียมตัวผู้เรียนให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะต้องออกไปเผชิญในโลกของความเป็นจริงอย่างชาญฉลาด
นอกจากนี้ข้าพเจ้าคิดว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของประเทศควรร่วมมือกันเตรียมการในการจัดทำหลักสูตรที่รองรับกับสถานการณ์ต่างๆในศตวรรษที่ 21 ให้สัมพันธ์ และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุน และอนาคต เพื่อให้มีหลักสูตรที่ทันสมัย และเป็นหลักสูตรที่ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาผู้เรียนได้อย่างมีสมดุลในทุกๆทักษะที่จำเป็นของโลกในศตวรรษที่ 21   ข้าพเจ้ายังคิดว่าในการจัดทำหลักสูตร ผู้ที่มีหน้าที่จัดทำหลักสูตรของทุกระดับชั้น จำเป็นต้องมีการคาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน ควรคาดการณ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 5-10 ปี เพื่อให้หลักสูตรที่จัดทำนั้นมีความทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะวิทยาการต่างๆมีพัฒนาการที่ก้าวหน้ารวดเร็วมาก หากไม่มีการคาดการณ์ล่วงหน้าไว้บ้าง จะทำให้หลักสูตรที่จัดทำนั้นล้าสมัย ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างเช่นหลักสูตรในอดีต และหลักสูตรฉบับปัจจุบันของประเทศไทย!!
จากการสังเกตการจัดการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบัน จะพบว่ายังไม่มีความชัดเจนในการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมตัว และพัฒนาผู้เรียนในส่วนที่เกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21  แต่มีการเตรียมการ และดำเนินการบ้างในบางทักษะ เช่น มีการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีทักาะการรู้หนังสือพื้นฐาน การรู้หนังสือทางวิทยาศาสตร์ การรู้หนังสือทางเศรษฐศาสตร์ การรู้หนังสือด้านเทคโนโลยีการส่งเสริมด้านความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น แต่การดำเนินการดังกล่าวยังไม่เต็มรูปแบบ และขาดความต่อเนื่อง จึงยังไม่เกิดผลที่เป็นรูปธรรมให้เห็นในปัจจุบัน ส่วนมากการดำเนินการจะออกมาในลักษณะที่ส่วนใดพร้อมส่วนนั้นดำเนินการ การพัฒนาทักษะต่างๆนี้ในภาพรวมจึงยังไม่เกิดขึ้นในการศึกษาของประเทศไทย จากการดำเนินการที่ไม่สอดคล้อง สัมพันธ์ และไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคมโลก จึงทำให้นักเรียนไทยขาดโอกาสของการแข่งขันที่สำคัญบนเวทีโลกในหลายๆด้าน  rrr