วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21


ข้าพเจ้าได้อ่านบทความ เรื่อง การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เขียนโดย อนัญจนา แสงเมือง เผยแพร่ทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม 2007 โดยผู้เขียนได้เสนอความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไว้ดังนี้  
     ปัจจุบันมนุษย์มีความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไป นักการศึกษายุคใหม่จึงได้เสนอหลักการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไว้ ดังนี้
                        1. มนุษย์มีรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ผู้สอนจึงต้องใช้วิธีการสอนที่หลากหลายให้เหมาะสมกับผู้เรียน เพื่อพัฒนาสติปัญญาของผู้เรียน 
                        2. ผู้เรียนควรเป็นผู้กำหนดองค์ความรู้ของตนเอง ไม่ใช่นำความรู้ไปใส่สมองผู้เรียน แล้วให้ผู้เรียนดำเนินรอยตามผู้สอน
                        3. โลกยุคใหม่ต้องการผู้เรียนที่มีวินัย มีพฤติกรรมที่รู้จักยืดหยุ่น หรือปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นแบบเผด็จการ แบบให้อิสระ หรือแบบประชาธิปไตย
                        4. เนื่องจากข้อมูลข่าวสารในโลกจะทวีเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทุกๆ 10 ปี โรงเรียนจึงต้องใช้วิธีสอนที่หลากหลาย โดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ กัน
                        5. ให้ใช้กฎเหล็กของการศึกษาที่ว่า ระบบที่เข้มงวดจะผลิตคนที่เข้มงวดและ ระบบที่ยืดหยุ่นก็จะผลิตคนที่รู้จักการยืดหยุ่น
                        6. สังคม หรือชุมชนที่มั่งคั่ง ร่ำรวยด้วยข้อมูลข่าวสาร ทำให้การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายๆ สถานที่
                        7. การเรียนรู้แบบเจาะลึก (deep learning) มีความจำเป็นมากกว่าการเรียนรู้แบบผิวเผิน (shallow learning) หมายความว่า จะเรียนอะไรต้องเรียนให้รู้จริง ให้รู้ลึก รู้รอบ ไม่ใช่เรียนแบบ งูๆ ปลาๆ                 8. การสอนที่จัดว่ามีประสิทธิภาพ ต้องการครูที่มีคุณสมบัติมากกว่าการเป็นผู้ทำหน้าที่สอน (instructor) คือต้องการครูที่มีคุณลักษณะเป็น ผู้ชี้แนะการเรียนรู้ (learning coach) และ เป็นตัวแทนในการนำผู้เรียนท่องเที่ยวไปสู่โลกแห่งการเรียนรู้ได้ (learning travel agent) บทบาทของครู ในโลกยุคใหม่จึงต้องกว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ดูแลรูปแบบการเรียนการสอนเท่านั้น เพราะทำให้เด็กที่จบจากโรงเรียนมีปัญหา ในเรื่องความรู้ และทักษะ คือรู้ก็รู้ไม่จริง แล้วยังขาดทักษะที่จำเป็น ต่อการประกอบอาชีพอีกด้วย
                        9. การเล่าเรียนในโรงเรียน (schooling) กับการศึกษา (education) ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) เคยกล่าวไว้กับรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (Mr. R.A. Butler) เมื่อปี ค.ศ.1944 ว่า โรงเรียนไม่มีความจำเป็นมากนักในการจัดการศึกษา เพราะเป็นเพียงสถาบันที่มีงานหลักคือการพร่ำอบรมสั่งสอนเด็กๆ เท่านั้น แต่การศึกษามีความแตกต่างออกไปอย่าง สิ้นเชิงและการศึกษาเกิดขึ้นในโรงเรียนน้อยมาก
                        10. โลกอนาคตจะให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่บ้าน (home–based education) มากขึ้น เด็กๆ จะเรียนอยู่ที่บ้าน โดยเรียนจากประสบการณ์ของนักการศึกษาที่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ โดยตรง
            นอกจากหลักการเรียนรู้ 10 ประการ ข้างต้นแล้ว นักการศึกษายังได้เสนอแนวคิดหลักในการจัด ระบบการเรียนรู้ (learning system) อีก 7 ประการ สำหรับโลกยุคหน้า ได้แก่
                        1. ผู้เรียนเป็นผู้จัดการเรื่องการเรียนรู้ของตนเอง
                        2. การเรียนรู้จะใช้ระบบเครือข่าย
                        3. หลักสูตรจะถูกจัดแยกเป็นประเภท(catalogue curriculum) ผู้เรียนมีโอกาสเลือกเรียนหลักสูตรที่หลากหลายมากขึ้น เช่น สามารถเลือกได้ว่าจะเรียนเต็มเวลาในสถานศึกษาทั้งหลักสูตร(full time) หรือจะเรียนที่บ้านทั้งหมด หรือจะเลือกเรียนที่บ้านและเรียนที่ โรงเรียนบางเวลาก็ได้ (flexi– time schooling plan)
                        4. มีแผนการเรียนรู้เป็นรายบุคคล (personal learning plan)
                        5. การเรียนรู้จากคอมพิวเตอร์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
                        6. ครูมีบทบาทในฐานะเป็นตัวแทนของการเรียนรู้ (learning agent)
                        7. ระบบการประเมินจะหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้วัดเฉพาะความรู้ในแบบทดสอบเท่านั้น เช่น การสอบวิชาดนตรี จะไม่สอบเฉพาะภาคทฤษฎี ผู้เรียนต้องสอบภาคปฏิบัติด้วย เพราะผู้ที่ทำข้อสอบได้หมด อาจจะเล่นดนตรีไม่ได้เลย
                        จากประเด็จความคิดที่ได้จากบทความนี้ ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับความคิดของผู้เขียนบทความ เพราะเมื่อปัจจัยรอบด้านเปลี่ยนแปลง การจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันด้วย เพื่อให้ผู้เรียนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข  การเตรียมผู้เรียนให้ออกไปเผชิญการสังคมที่เปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการจัดการเรียนรู้  นอกจากนี้การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งประกอบด้วย สี่เสาหลักที่เป็นรากฐานของการศึกษา อันได้แก่
            การเรียนเพื่อรู้ หมายถึง การรวมความรู้สามัญอย่างกว้างๆเข้าด้วยกัน โดยให้มีความเป็นไปได้ที่จะมีการศึกษาลงลึกในบางวิชาที่เลือกไว้ ซึ่งภูมิหลังกว้างๆเช่นนี้ จะเป็นใบเบิกทางนำไปสู่การศึกษาตลอดชีวิต ช่วยวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับคนมีจิตใจชอบแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา
            การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้จริง เป็นการเรียนรู้ในลักษณะที่จะช่วยสร้างความสามารถให้มนุษย์ดำรงชีพ อยู่ในสถานการณะต่างๆได้ ซึ่งความสามารถและทักษะดังกล่าว สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ ถ้าผู้เรียนรู้ได้มีโอกาสได้ทดลอง และพัฒนาความสามารถของตน โดยมีส่วนร่วมในโครงการประสบการณ์งานอาชีพ หรืองานทางสังคมอย่างจริงจัง
            การเรียนรู้เพื่อชีวิต โลกในศตวรรษที่ 21 ทุกคนจำเป็นต้องมีความคิดเป็นอิสระและรู้จักตัดสินใจ ประกอบกับมีความรู้สึกรับผิดชอบโดยส่วนตัวอย่างแรงกล้าต่อการที่จะบรรลุเป้าหมายร่วมกันกับผู้อื่น
            การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน โดยพัฒนาความเข้าใจในผู้อื่นทั้งแง่ประวัติศาสตร์ ธรรมเนียมประเพณี และค่านิยมทางจิตใจ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการรังสรรค์จิตวิญญาณใหม่ ที่ตระหนักสำนึกถึงการต้องพึ่งพาอาศัยกัน รวมทั้งการวิเคราะห์ความเสี่ยง และความท้าทายของอนาคตร่วมกัน ทุกสังคมในโลก ล้วนมีเป้าหมาย ที่จะเคลื่อนไปสู่โลกแห่งอุดมการณ์อันหลีกเลี่ยงมิได้ และจะไม่มีความสามารถใดๆของมนุษย์คนใดที่ถูกละเลย ดังนั้น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ.2542 มาตรา 8 ได้ระบุชัดเจนว่า การจัดการศึกษาให้ยึดหลักดังนี้
            1. เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน  
2. ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
3. การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น เราต้องทบทวนและขยายแนวคิด เรื่องการศึกษาตลอดชีวิต ให้กว้างไกลยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มิใช่เพียงเพื่อปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กับสภาพของการงานอาชีพเท่านั้น หากแต่จะต้องเข้าไปสร้างกระบวนการหล่อหลอมปัจเจกบุคคลในองค์รวมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยครอบคลุมทั้งในด้านความรู้ เจตคติ วิจารณญาณ และความสามารถในทางปฏิบัติไปพร้อมๆกัน เพราะการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะช่วยให้ผู้คนสามารถพัฒนาจิตสำนึก ความตระหนักรู้ในเรื่องเกี่ยวกับตนเองและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้มีบทบาททางสังคม ทั้งด้านการงานและชุมชนด้วย ทุกภาคส่วนต้องเข้ามา  มีบทบาทในการสร้าง องค์กรแห่งการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ครอบครัว ชุมชน สถานศึกษา รัฐบาลและเอกชน ต้องเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ว่า เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้คน และองค์กรต่างๆ สามารถรับมือกับกระแสความเปลี่ยนแปลง และสามารถพลิกวิกฤตการณ์ให้กลายเป็นโอกาสได้ รวมทั้งคนไทยทุกคน ต้องตระหนัก และเล็งเห็นถึงความสำคัญ คุณค่าของการศึกษาตลอดชีวิต และการเรียนรู้ตลอดชีวิตว่าเป็น หัวใจ และพลังในการสร้าง คน  rrr

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น