วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Models of Teaching


มื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือ Models of Teaching ของ Bruce Joyce, Marsha Weil และ Emily Calhoun เกี่ยวกับหลักสำคัญของการจำ (Memory) โดยจับประเด็นหลักได้ว่า กลยุทธ์ที่จะช่วยให้จดจำได้รวดเร็ว จำได้เป็นจำนวนมาก และจำได้เป็นเวลานานนั้น ควรจะคำนึงถึงหลักบางประการ ดังนี้
               1.การตระหนักรู้ (Awareness) อันเกิดจาการใส่ใจ และมุ่งความสนใจไปที่สิ่งนั้นๆ หรือเรื่องนั้นๆ การสังเกตเป็นจุดเริ่มต้นของการตระหนักรู้สำหรับสิ่งใดๆ ก็ตามที่ต้องการจดจำ
               2.การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของความรู้ใหม่กับความรู้เดิม (Association) หลักการพื้นฐานของการจดจำ คือ การจดจำความรู้ใหม่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับสิ่งที่รู้แล้ว และจำได้อยู่แล้ว (Associated with something you already know or remember)
               3.การเชื่อมโยงสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ (Link System) หัวใจของกระบวนการจดจำ คือ เชื่อมโยงความคิดสองความคิดเข้าด้วยกัน โดยความคิดแรกจุดประกายให้เกิดความคิดที่สอง
               4.การเชื่อมโยงกันโดยไม่มีความเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน (Ridiculous Association) มักเกิดขึ้นกับการเรียนรู้ในวัยเด็ก ซึ่งผู้เรียนยังไม่นึกถึงเหตุผลในการเชื่อมโยง แต่ใช้จินตนาการส่วนตัวและสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว แต่จะเกิดได้น้อยในวัยผู้ใหญ่
                        5.ระบบการใช้คำแทน (Substitute-Word System) เป็นการแทนที่คำศัพท์ที่ต้องการจำด้วยคำศัพท์ หรือภาพที่มีความสัมพันธ์กันทางกายภาพ เช่น คำที่มีเสียงคล้ายคลึงกัน เป็นต้น
               6.การจำคำสำคัญ (Key Word) การจำคำสำคัญซึ่งมักจะเป็นคำสั้นๆ ที่แทนความคิด หรือถ้อยความที่ยาว เช่นในการพูดบรรยาย หรือการกล่าวสุนทรพจน์ ผู้พูดจะเขียนคำสำคัญของแต่ละประเด็นไว้ตามลำดับ เพื่อใช้เตือนความจำในขณะที่บรรยาย หรือพูด

จากประเด็นที่พบ ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับหลักสำคัญดังกล่าว เพราะในการจดจำสิ่งต่างๆ มนุษย์เราจำเป็นต้องมีความตั้งใจ เอาใจใส่ มุ่งมั่นอยู่กับสิ่งนั้นๆ อย่างมีสมาธิ เพื่อให้กระบวนการภายในสมองได้ทำงาน และมีการจัดระบบของข้อมูลความรู้ใหม่ที่ได้รับ โดยใช้ความรู้เดิมที่มีอยู่มาช่วยพิจารณาตัดสินว่าความรู้ใหม่นั้นเป็นข้อมูลที่น่าจดจำหรือไม่ และข้าพเจ้าคิดว่าการจดจำเป็นสิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง ต่อกระบวนการการเรียนรู้ของมนุษย์ ข้าพเจ้าคิดว่าแนวคิดของ Bruce Joyce, Marsha Weil และ Emily Calhoun สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ Cognitivism ที่เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพของความรู้ และเป็นกระบวนการที่เกิดในสมองของมนุษย์ เช่น การจำ การเข้าใจ การคิด การวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการจัดหมวดหมู่
ดังนั้นในฐานะเป็นครูผู้สอน หรือนักการศึกษา หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้การศึกษากับผู้เรียนทุกระดับ ต้องให้ความสำคัญต่อการจำของผู้เรียน จำเป็นต้องสร้างกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนตระหนักถึงความสำคัญของความรู้ที่ตนเองกำลังศึกษา และครูผู้สอนจำเป็นต้องช่วยให้ผู้เรียนสามารถจัดระเบียบความรู้ สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของความรู้ใหม่กับความรู้เดิมได้ นอกจากนี้ในการสอนเนื้อหาความรู้ โดยเฉพาะความรู้ที่เป็นนามธรรม หรือสิ่งที่เข้าใจได้ยาก จึงควรใช้สื่อการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเชื่อมโยงสิ่งที่สัมพันธ์กันได้ อันจะทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจ และจำความรู้ที่เรียนได้ง่ายขึ้น และจำได้นาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น