วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แนวทางการศึกษายูเนสโก ปัจจัยความสำเร็จในศตวรรษที่ 21


   ข้าพเจ้าได้อ่านบทความ เรื่อง แนวทางการศึกษายูเนสโก ปัจจัยความสำเร็จในศตวรรษที่ 21 ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553 โดยมีใจความสรุป ดังนี้  
จากงานประชุมนานาชาติด้านการเรียนการสอน และงานแสดงนิทรรศการด้านสื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา หรือ EDUCA 2010 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวคิดผลงานวิจัย และนวัตกรรมด้านการศึกษาจากทุกภาคส่วนในระบบการศึกษา เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้จัดงานได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากองค์การยูเนสโก ประเทศไทย ได้แก่ "ดร.กวาง โจว คิม" ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก ประเทศไทย มาให้ความรู้และเปิดความคิดเรื่องปัจจัยแห่งความสำเร็จของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ตามแนวทางการศึกษาวิจัยของยูเนสโก
ดร.กวาง โจว คิม เริ่มต้นปาฐกถาพิเศษด้วยการกล่าวถึงแนวโน้มด้านการศึกษาที่เกิดขึ้นกับโลกยุคปัจจุบัน โดยระบุว่า การศึกษาในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ซึ่งหลายประเทศประสบกับปัญหาประชากรสูงวัย ขณะที่ในประเทศไทย ประชากรวัยเจริญพันธุ์ และอัตราการเกิดเองก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970
ขณะที่ในกลุ่มประเทศ OECD กลับพบความเคลื่อนไหวของประชากรว่า มีเด็กเกิดนอกประเทศมากกว่าในประเทศ โดยในยุโรป ชนชั้นแรงงานจำนวนมากมีการอพยพย้ายถิ่นฐานไปขายแรงงานและปัจจัยเรื่องการเคลื่อนไหวของประชากรนี้ นับว่ามีความสำคัญสำหรับ การคิดวางแผน และการจัดระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการศึกษาประการที่ 2 คือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ซึ่งโดยภาพรวมของทั่วโลกพบว่าภาคเกษตรและอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ภาคบริการมีสูงขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยกลับพบว่าภาคการเกษตรและบริการลดลง แต่มีภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น  แนวโน้มนี้ได้ส่งผลให้การจ้างงานเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งแสดงผลออกมาใน รูปแบบต่าง ๆ เช่น วิชาชีพเฉพาะมีความต้องการและเติบโตขึ้นในช่วงปี 2549-2550 ซึ่งเป็นตัวสะท้อนการเตรียมบุคลากรไปสนองความต้องการของเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยที่ 3 คือไอซีที และอินเทอร์เน็ต ซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลก เช่นเดียวกับในไทย
สุดท้าย คือปัจจัยที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของภัยพิบัติ เช่น โลกร้อน ซึ่งอาจมีผลให้ภาคการเกษตรในพื้นที่ที่เพาะปลูกได้ยาก ขยายตัวขึ้นในอีก 70 ปีข้างหน้า
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการศึกษาแล้ว ดร.กวาง โจว คิม ยังชี้ให้เห็นถึงความจริงในระบบการศึกษา โดยกล่าวถึงประเด็นเรื่องช่องว่างทางการศึกษาว่า แม้ปัจจุบัน จำนวนเด็กที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนจะมีแนวโน้มลดลง แต่ข้อมูลที่พบในปี 2550 ยังชี้ให้เห็นว่า จำนวนเด็กที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนยังคงมีมากถึง 72 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขในระดับโลก
"ส่วนประเทศไทย ช่องว่างทางการศึกษา แม้จะไม่เลวร้ายนัก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการศึกษาสูงกว่า ก็ยังนับว่ามีช่องว่างอยู่มาก"
ทั้งนี้ ข้อมูลการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไทยที่เปิดเผยออกมาล่าสุด ปรากฏว่ามีนักเรียนในระดับชั้นเตรียมอนุบาล 88% ประถม 98.3% มัธยมต้น 86.7% มัธยมปลาย 58% และอุดมศึกษา 48% แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่าอยู่ในมาตรฐาน OECD คือเด็กไทยจะเข้าโรงเรียนได้ตั้งแต่ 5 ขวบ และได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 16 ปี
นั่นคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับการศึกษาในระดับโลก และการศึกษาในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ที่ตัวแทนจากยูเนสโกนำเสนอ
ส่วนจุดอ่อนที่มีการพูดถึงอยู่ในเวลานี้ คือเรื่องคุณภาพการศึกษา และคุณภาพครูในประเทศไทย ก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ องค์การยูเนสโก ประเทศไทย ให้ความสนใจ และจากประสบการณ์ของ ดร.กวาง โจว คิม ได้ชี้ให้เห็นว่า ครูไทยต้องมีการปรับใช้ความรู้ เช่น ให้ลองปรับตารางการสอนเป็นแบบ "DeSeCo" ซึ่งแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 กลุ่ม คือตารางการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มที่แตกต่างกัน ตารางความเปลี่ยนแปลงด้านวิธีการศึกษา และตารางการประเมินผลการศึกษา
อีกเรื่องที่เป็นจุดที่ต้องคำนึง คือการเปลี่ยนแปลงสถานภาพครู โดยเฉพาะในโลกยุคนี้ และในบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ครูมีการปรับสถานภาพในห้องเรียน จาก "ครูผู้สอน" และเป็นศูนย์กลางของ ชั้นเรียนไปสู่การเป็น "ครูผู้สร้าง" และเปลี่ยนบทบาทให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางแทน ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนกว่า
นอกจากนี้ ความท้าทายต่ออาชีพครูในสังคมไทย ก็ยังเป็นอีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึง เพราะครูในปัจจุบันต้องทำงานหนัก ผลตอบแทนน้อยกว่าความรับผิดชอบ และการสร้างให้เกิดครูมีคุณภาพ ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในฐานะหน่วยงานระหว่างประเทศ องค์การยูเนสโกก็ยังเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่จะร่วมพัฒนาการศึกษาในโลกได้ โดยปัจจุบัน ยูเนสโกทำหน้าที่พัฒนาการศึกษาที่สร้างสรรค์และมีคุณภาพ เช่น การจัดทำโครงการ Education for All เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา และ Beyond Basic Education ที่มีเป้าหมาย เพื่อต่อยอดการศึกษาให้สูงกว่าทั่วไป พร้อมกันนั้นยังดูแลสถานะการทำงานของครู และอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรงด้วย เช่น เรื่องโรคเอดส์ ไอซีที เป็นต้น
            จากปาฐกถาพิเศษของดร.กวาง โจว คิม ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับแนวคิดที่กล่าวว่าการการศึกษาในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ  การขยายตัวอย่างรวดเร็วด้านไอซีที และอินเทอร์เน็ต และปัจจัยที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของภัยพิบัติทางธรรมชาติ  เพราะปัจจัยที่กล่าวมาแต่ละด้านล้วนเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จในการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ และเทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนปฏิรูปสังคมไปสู่ความเป็นสังคมใหม่ การศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองให้ทันกับการเปลี่ยน แปลงในแต่ละด้าน เพื่อความสุขในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมแห่งการเรียนรู้ (Knowledge based society) เมื่อพิจารณาแนวการจัดการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันก็พบว่าแนวการจัดการศึกษาได้กำหนดไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักนักเรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ และถือว่านักเรียนมีความสำคัญที่สุดแต่เนื่องจากนักเรียนแต่ละคนมีธรรมชาติที่แตกต่าง ทั้งในด้านวัย วุฒิภาวะ ความต้องการ ความถนัด ความสนใจ และวิธีการเรียนรู้ทั้งมีการดำเนินชีวิต และสิ่งแวดล้อม ที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวล้วนมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของ นักเรียนทั้งสิ้น ดังนั้นการจัดกระบวน การเรียนรู้จึงต้องยึดนักเรียนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นแนวทางที่ให้นักเรียนได้ใช้กระบวนการเรียนรู้สร้างองค์ความรู้ โดยนักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนการจัดกิจกรรม มีความสุขในการเรียน เกิดเป็นการเรียนรู้ อย่างมีความหมาย และจะนำไปสู่การค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิตในที่สุด
            นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังคิดว่าการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายในเรื่องการเปลี่ยนแปลงต่างๆอันเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัฒน์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดความต้องการกำลังคนที่มีศักยภาพสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ การศึกษาในศตวรรษที่ 21 จึงต้องเน้นในเรื่อง
การจัดการคิดระดับสูงที่มิใช่เพียงการเรียนรู้ทักษะการคิดเท่านั้น แต่ต้องสามารถใช้พลังปัญญาจัดการความรู้ สร้างสรรค์ แก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งเห็นได้จากมาตรฐานการเรียนรู้ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ล้วนกำหนด และมุ่งเน้นทักษะการคิด การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการคิดอันเป็นเป้าหมายสำคัญของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน  และในการจัดการ ศึกษาควรต้องพิจารณาเกี่ยวกับเนื้อหาวิชาที่จะถ่ายทอดให้กับผู้เรียน บุคคลที่เกี่ยวข้องในการวางแผนจัด ทำหลักสูตรทุกระดับควรต้องศึกษาให้รอบคอบในประเด็นนี้  และมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตการเรียรู้ และการทำงานในยุคเทคโนโลยี ดังนี้
                        1. รู้ทักษะการใช้ภาษายุคดิจิทัล (Digital-Age Literacy)
                        2. มีทักษะในการคิดประดิษฐ์-สร้าง (Inventive Thinking)
                        3. มีทักษะในการเพิ่มผลผลิตในงานที่ทำอย่างมีประสิทธิภาพสูง (High Productivity)
                        4. มีทักษะสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Communication)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น